ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน อากาศที่นี่มักจะร้อนถึงร้อนมาก อาจส่งผลให้อาหารการกินที่ทำขึ้นมักจะบูดหรือเน่าเสียได้ง่าย และเร็วกว่าเดิม จากที่สามารถทำอาหารไว้ก่อนรอทุกคนกลับมาทานที่บ้าน รอลูกค้ามาซื้อ หรือแม้ซื้อจากข้างนอกมารอทานในมื้ออื่น ก็สามารถทิ้งไว้ได้เป็นวันๆ แต่ ณ ตอนนี้ ด้วยการเกิดสภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศของโลกร้อนขึ้น และประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อนอยู่แล้วก็ยิ่งร้อนขึ้นไปอีก ดังนั้นพวกเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา มันจึงสมารถที่จะเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น มากขึ้น และเร็วขึ้น ซึ่งทำให้อาหารเหล่านั้นที่เราทำไว้ เตรียมไว้ มีความเสี่ยงที่จะบูดเน่าได้หลังจากทำเสร็จเพียงไม่ถึงหนึ่งวันเต็ม (หากไม่ผ่านความร้อนให้เดือดอยู่เรื่อยๆ)
อาหารแบบไหน บูดเน่าเสียได้ง่าย?
อาหารจะบูดหรือเน่าเสียง่ายมากขึ้นอยู่กับวิธีการทำว่าผ่านความร้อนใช้ความร้อนมากแค่ไหน โดยเฉพาะตอนเวลาที่ทิ้งอาหารเอาไว้หลังปรุงเสร็จว่าทิ้งไว้นานมากเท่าไรก่อนเราจะกิน โดยเฉพาะวิธีการเก็บรักษาหลังปรุงอาหารเสร็จ หรือการที่เราตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง หรือนำไปอุ่นให้เดือด หรือเก็บใส่ในตู้เย็นในระหว่างก่อนจะกินหรือไม่ และส่วนประกอบของอาหารนั้นๆ มีส่วนประกอบเป็น นม หรือ กะทิ หรือเปล่า เพราะอาหารที่มีส่วนประกอบเจ้า 2 อย่างนี้มักจะบูดเน่าเสียง่ายกว่าอาหารอื่นๆ
อาหารเสี่ยง “ท้องเสีย-ท้องร่วง-อาหารเป็นพิษ” ช่วงหน้าร้อน
- อาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น กุ้งแช่น้ำปลา ลาบก้อย เนื้อย่างมิเดียมแรร์ กุ้งเต้น ฯลฯ หลายคนคงเข้าใจว่ากรดในน้ำมะนาวสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่จริงๆ แล้ว เป็นความเข้าใจที่ผิด ความร้อนเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถช่วยลดแบคทีเรียให้น้อยลงได้ และทำได้แค่บางตัว บางชนิด
- อาหารที่มีส่วนประกอบหรือปรุงด้วยนม กะทิ เช่น น้ำยากะทิ แกงเขียวหวาน มัสมั่น แกงกะทิ ฯลฯ หากมีการปรุงอาหารเอาไว้ตั้งแต่ตอนเช้ามืด และนำมาตั้งทิ้งไว้นานเกินและไม่ได้นำไปอุ่นให้เดือด อาจมีความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเจริญเติบโตในอาหารจนอาจทำให้บูดเน่าได้ แม้เวลาจะผ่านมาไม่กี่ชั่วโมง
- อาหารประเภทที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ โดยไม่สามารถนำไปอุ่นได้ เช่น อาหารประเภทยำ พล่า หรือบางเมนูที่เมื่อนำไปอุ่นแล้วจะลดความน่ารับประทานลงไป เช่น ผัดผัก อาหารทอด (ที่จะทำให้ผัก หรืออาหารสุกเกินไป และไม่น่ารับประทาน) มีความเสี่ยงที่จะมีแบคทีเรียเจริญเติบโตเช่นกัน
- อาหารที่ปรุงเสร็จแล้วนำมาตั้งไว้บนพื้น อาจจะมีความเสี่ยงที่จะมีสิ่งสกปรกตกลงไปในอาหารได้ ดังนั้นควรสังเกตร้านอาหารต่างๆ ว่ามีการตั้งอาหารพร้อมภาชนะ รวมทั้งอุปกรณ์ในการทำอาหารเอาไว้บนพื้นหรือไม่
- น้ำดื่ม น้ำแข็ง ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน อาจมีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนจนทำให้เสี่ยงท้องร่วงได้
วิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ
- เราควรเลือกรับประทานอาหารที่มีการปรุงใหม่ ปรุงสดทีละจาน หรือพึ่งทำเสร็จ
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ไม่ดิบ ไม่กึ่งสุก กึ่งดิบ และได้ผ่านความร้อนมาอย่างเต็มที่
- หลีกเลี่ยงอาหารที่สังเกตแล้วเหมือนว่าทำทิ้งเอาไว้นานหลายชั่วโมงโดยไม่ได้รับการอุ่นให้ร้อนระหว่างวัน
- หากซื้ออาหารปรุงสำเร็จกลับมารับประทานเองที่บ้าน ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน หากยังไม่ทาน หรือทานเหลือแต่อยากเก็บเอาไว้รับประทานใหม่ในวันอื่น ควรอุ่นให้ร้อน ก่อนทิ้งไว้ให้หายร้อนแล้วนำเข้าไปเก็บเอาไว้ในตู้เย็น (ตู้เย็นไม่ควรมีอาหารแช่จนแน่นตู้ เพราะจะทำให้ความเย็นไม่เพียงพอในการรักษาคุณภาพของอาหาร)
- เลือกซื้อน้ำดื่ม และน้ำแข็งจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
- เลือกซื้ออาหารจากร้านอาหารที่ดูแล้วถูกสุขลักษณะ มีความสะอาดทั้งจากร้าน อุปกรณ์ในการทำอาหาร ลักษณะของคนทำอาหาร เป็นต้น
จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2561 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วง 209,470 ราย และโรคอาหารเป็นพิษ 19,807 ราย โดยอาการของผู้ป่วยจะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ หากอาการไม่รุนแรงควรให้สารละลายเกลือแร่หรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการต่างๆ ไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์